คิดให้ดีก่อนกู้ซื้อบ้านร่วมกับคนอื่น

คิดให้ดีก่อนกู้ซื้อบ้านร่วมกับคนอื่น

เมื่อต้องกู้ซื้อบ้าน บางคนก็ด้วยเหตุผลจะหาที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง และบางคนก็ต้องการสร้างครอบครัว โดยการขอกู้สินเชื่อซื้อบ้านนี้หลายคนก็กู้ซื้อคนเดียวเลย เป็นเจ้าของคนเดียว แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำการขอกู้สินเชื่อซื้อบ้านร่วมกับคนอื่น หรือที่เรียกว่า “กู้ร่วม” เคยสงสัยกันมั้ยว่าการกู้ร่วมซื้อบ้านนี้คืออะไร? สามารถกู้ร่วมกับใครได้บ้าง? และการกู้ร่วมมีข้อดี-ข้อเสียอะไร? การกู้ร่วมมีความเสี่ยงหรือไม่? วันนี้มีคำตอบสำหรับทุกคำถามมาให้ เพื่อคลายข้อสงสัยดังนี้…

 

การ “กู้ร่วม” ซื้อบ้าน คืออะไร?

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับคำว่า “กู้ร่วม” กันก่อน…การกู้ร่วมซื้อบ้าน เป็นการร่วมเซ็นสัญญายื่นกู้ซื้อบ้านหลังเดียวกัน โดยตามเงื่อนไขทั่วไปของธนาคารแล้ว ผู้กู้ร่วมจะต้องเป็น คู่สมรส พ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติ ซึ่งการกู้ร่วมนี้จะเป็นการแสดงให้ธนาคารเห็นว่า ผู้ร่วมภาระหนี้ก้อนนี้มีความสามารถเพียงพอที่จะผ่อนชำระหนี้คืนได้ตามสัญญาแน่นอน เพื่อให้ได้รับการอนุมัติในหนี้ก้อนนี้ง่ายขึ้น หรือเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ สำหรับการกู้ร่วมนั้นจะถือเป็นการค้ำประกันรูปแบบหนึ่งก็ว่าได้ เพราะผู้กู้ร่วมจะต้องมีคุณสมบัติที่ดีเหมือนผู้กู้หลัก คือจะต้องมีหลักฐานแสดงรายได้ที่ชัดเจน และมีประวัติการชำระหนี้ที่ดี รายได้ที่มีเหลือเพียงพอที่จะร่วมรับภาระหนี้ก้อนนี้ได้

 

ใครสามารถ “กู้ร่วม” กับเราได้บ้าง?

สำหรับคุณสมบัติทั่วไปของผู้ที่จะสามารถกู้ร่วมกับเราได้นั้น จะต้องเป็นคนที่มีสายเลือดเดียวกับเรา เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เครือญาติ หรือคู่สมรส แต่ถ้าเป็นกรณีการขอกู้ร่วมที่พี่น้องไม่ได้ใช้นามสกุลเดียวกัน จะต้องนำหลักฐานมาแสดง เช่น ทะเบียนบ้านหรือสูติบัตรที่แสดงให้เห็นว่ามีพ่อแม่คนเดียวกัน หรือถ้าเป็นคู่สมรสที่ยังไม่ได้จดทะเบียน ก็ให้นำหลักฐานการแต่งงาน เช่น รูปถ่ายในวันแต่งงาน หรือใช้ใบลงบันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจที่ระบุว่าอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยา หรือถ้ามีลูกด้วยกันแล้วก็ให้ใช้สำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุชื่อของคู่สมรสที่มากู้ร่วม (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและการพิจารณาการให้สินเชื่อของแต่ละธนาคาร) และคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของผู้ที่จะมากู้ร่วมกับเรานั้น จะต้องมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ คือ ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่าที่เงื่อนไขธนาคารกำหนด โดยส่วนใหญ่แล้วในปัจจุบันจะต้องไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน รวมกับจะต้องไม่มีภาระหนี้มากเกินไป และไม่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้ด้วย

 

ข้อดี-ข้อเสีย ของการ “กู้ร่วม” มีอะไรบ้าง?

การ “กู้ร่วม” ซื้อบ้านนั้นเกิดจากหลายๆ เหตุผล แต่เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้หลายคนต้องหาคนกู้ร่วมก็เพราะเจอปัญหาการกู้ “ไม่ผ่าน” นั่นอาจจะมาจากการมีฐานรายได้ไม่เพียงพอกับหนี้สินที่จะต้องรับผิดชอบ ขาดความน่าเชื่อถือ หรือมีประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ดังนั้น เพราะเหตุนี้จึงทำให้ต้องใช้การกู้ร่วมในการซื้อบ้านนั่นเอง

“ข้อดี” ของการกู้ร่วมซื้อบ้าน ได้แก่…

  1. มีโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น
  2. มีโอกาสที่จะได้รับวงเงินกู้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
  3. ไม่ต้องแบกรับภาระหนี้คนเดียว

จากที่เห็นข้อดีของการกู้ร่วมตามที่กล่าวนี้ แต่ข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกู้ร่วมนี้ก็มีได้เช่นกัน ดังนั้น มาดูกันว่าสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นจนเป็นข้อเสียของการกู้ร่วมมีอะไรบ้าง?

 

ข้อเสีย” ของการกู้ร่วมซื้อบ้าน ได้แก่…

  1. ต้องรับผิดชอบในหนี้ก้อนนี้ร่วมกัน : ข้อเสียของการต้องรับผิดชอบร่วมกันจะเกิดขึ้นจากหากผู้กู้ร่วมเกิดผิดใจกันขึ้นมาระหว่างสัญญาจนทำให้ผู้กู้ร่วมไม่อยากรับผิดชอบหนี้ก้อนนี้ด้วยกันต่อ หรือเกิดจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีปัญหาทางการเงินจนทำให้ภาระหนี้ตกไปอยู่กับอีกฝ่าย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นผลทำให้ไม่สามารถแบกรับภาระหนี้ก้อนนี้ได้อีกต่อไป และเมื่อตกลงกันไม่ได้ สุดท้ายอาจถึงขั้นต้องขายบ้าน ทำให้ต้องสูญเสียบ้านไปในที่สุด
  2. การกู้ร่วมอาจทำให้การกู้ครั้งต่อไปยากขึ้น : ในกรณีนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับการกู้ร่วมแบบครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง เป็นต้น แน่นอนว่าในการกู้ร่วม เมื่อกู้ผ่านก็จะถือว่าเป็นหนี้ร่วมกันแล้ว ธนาคารจะมองว่ามีภาระทางการเงินแล้ว ซึ่งหากในเวลาต่อมาเมื่อได้แต่งงานหรืออยากซื้อบ้านเป็นของตัวเอง จะส่งผลทำให้สถานะทางการเงินในการจะไปขอกู้สินเชื่อซื้อบ้านหลังใหม่ลดลง ทำให้การพิจารณาอนุมัติวงเงินก้อนใหม่จากธนาคารยากขึ้น หรืออาจไม่ผ่านการพิจารณาอนุมัติวงเงินก็เป็นได้ เพราะยังมีหนี้ติดค้างอยู่กับการขอกู้บ้านหลังแรกที่เป็นการกู้ร่วม
  3. สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีจะถูกหารเฉลี่ย : เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ดอกเบี้ยจากการขอกู้ซื้อที่อยู่อาศัยนี้สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ซึ่งในข้อนี้ถ้าเป็นการกู้คนเดียวก็จะไม่มีปัญหาการนำไปใช้ลดหย่อนเลย แต่พอเป็นการกู้ร่วมแล้ว เราจะต้องจำไว้ว่าดอกเบี้ยที่จะนำไปหักลดหย่อนภาษีนั้นจะต้องถูกหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ร่วมด้วย เช่น จากดอกเบี้ยการกู้ซื้อบ้านในครั้งนี้สามารถลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท มีผู้กู้ร่วมทั้งหมด 3 คน ก็จะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้เพียงแค่คนละ 20,000 บาทเท่านั้น
  4. อาจเกิดปัญหาต่อการขายหรือโอนได้ : เนื่องจากการกู้ร่วมนี้ส่งผลทำให้กรรมสิทธิ์ของบ้านตกเป็นของผู้กู้ร่วมทุกคน จึงอาจส่งผลทำให้การขายหรือการโอนเกิดปัญหาขึ้นหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ยินยอม เพราะตามเงื่อนไขแล้วไม่ว่าการทำธุรกรรมใดๆ จะต้องได้รับความยินยอมของทั้งสองฝ่ายนั่นเอง

 

การ “กู้ร่วม” ทำให้เกิดความเสี่ยงได้มั้ย? และความเสี่ยงนั้นคืออะไร?

เมื่อได้เริ่มทำการ “กู้ร่วม” เรียบร้อยแล้ว การกู้ร่วมในครั้งนี้จะไม่ถือว่าเป็นการรับผิดชอบหนี้สินคนละครึ่ง แต่จะนับรวมเป็นความรับผิดชอบหนี้สินร่วมกัน ตรงนี้เองที่ “ความเสี่ยง” เริ่มเกิดแล้ว ดังนั้น หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้น ธนาคารหรือเจ้าหนี้สามารถจะเรียกชำระหนี้คืนจากผู้กู้ร่วมคนใดคนหนึ่งหรือทั้งหมดก็ได้เช่นเดียวกัน แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นถึงขั้นต้องมีการยึดทรัพย์เพื่อไปขายทอดตลาด ต้องจำไว้เสมอว่า ความรับผิดต่อหนี้จะยังไม่จบหากจำนวนเงินที่ได้น้อยกว่ายอดหนี้คงค้าง ผู้กู้ร่วมทุกคนจะต้องรับผิดในการชำระหนี้คืนให้ครบตามจำนวนต่อไป และหากมีหนึ่งในผู้กู้ไม่มีความสามารถในการผ่อนหรือไม่มีเงินสำหรับการชำระคืนแล้ว ผู้กู้ที่เหลือจะต้องรับผิดชอบภาระหนี้ที่เหลืออยู่ทั้งหมด

 

ไม่รู้ไม่ได้!! กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน ผู้กู้ร่วมต้องตกลงกันว่า…จะให้ใครถือกรรมสิทธิ์ หรือจะถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันก็ได้ แต่ในกรณีที่เป็นพ่อแม่ กู้ร่วมกับลูก และต้องการยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกแต่เพียงผู้เดียว หรือในกรณีพี่ต้องการยกให้น้อง สามีต้องการยกให้ภรรยา ก็สามารถทำได้เช่นกัน ทั้งนี้ ต้องมีการระบุลงในแบบฟอร์มการขอสินเชื่อตั้งแต่ตอนทำสัญญาว่า เมื่อชำระหนี้ครบแล้วจะให้ใครเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์

 

สุดท้ายนี้…จะเห็นได้ว่าการกู้ร่วมนี้มีผลในการเพิ่มโอกาสการพิจารณาขอกู้ให้ได้รับการอนุมัติวงเงินสินเชื่อง่ายขึ้น และแถมด้วยการได้รับวงเงินที่สูงขึ้นก็ตาม แต่การกู้ร่วมก็ยังมีข้อเสียและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจที่จะกู้ร่วมกับใครนั้นจะต้องคิดทบทวนและวางแผนให้รอบคอบ คิดถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตหากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น การขัดแย้งกันของผู้กู้ร่วม เป็นต้น เพราะฉะนั้น ก่อนกู้ร่วมจึงต้องศึกษาหาข้อมูลรายละเอียด ข้อกำหนดและเงื่อนไขต่างๆ ก่อนลงปลายปากกาเซ็นสัญญากู้ร่วม เพื่อให้การตัดสินใจนี้เป็นประโยชน์กับตัวเราเองมากที่สุด